blog cover

อัลไซเมอร์ อาการ แบบไหน มีกี่ระยะ รักษาได้ไหม

2023-12-12vitalia-wellness-center

“โรคอัลไซเมอร์” เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่พบบ่อยที่สุด ลักษณะของโรคจะมีลักษณะค่อย ๆ ลุกลาม โดยเริ่มจากการสูญเสียความทรงจำทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งอาจนำไปสู่การสูญเสียความสามารถในการพูดคุย และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้


โรคอัลไซเมอร์เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองที่ควบคุมความคิด ความจำ และภาษา ซึ่งอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความสามารถของผู้ป่วยในการดำเนินกิจกรรมประจำวัน โรค อัลไซเมอร์ อาการแบบไหนที่เข้าขั้นอันตราย และอาการจะแบ่งออกเป็นกี่ระยะ วันนี้เราได้นำเรื่องน่ารู้มาฝากกันแล้ว

อัลไซเมอร์ คืออะไร


อัลไซเมอร์ คืออะไร

โรคอัลไซเมอร์ คือ โรคทางสมองที่ค่อย ๆ ทำลายความจำและทักษะการคิด และในที่สุดก็ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ในคนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคนี้ โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์จะมีปัญหาในการทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน จากที่เคยทำได้ ก็จะทำไม่ได้แล้ว เช่น ขับรถ ทำอาหาร หรือจ่ายบิลค่าน้ำ ค่าไฟ และมักจะมีการถามคำถามเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก หลงทางง่าย มักนำของไปวางไว้ในที่แปลก ๆ อาทิ เอารีโมททีวีไปไว้ในตู้เย็น เป็นต้น

โรคอัลไซเมอร์ เกิดจาก


โรคอัลไซเมอร์เกิดจากสาเหตุอะไร

1. พันธุกรรม

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ อาจมีองค์ประกอบทางพันธุกรรมของโรคอัลไซเมอร์อยู่แล้ว ถ้าประวัติครอบครัวของคุณมีคนเป็นโรคนี้อาจมีความเสี่ยงสูง สาเหตุเกิดจากยีนบางชนิด เช่น ยีน APOE ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ แต่อย่างไรก็ตาม การมีความบกพร่องทางพันธุกรรมก็ไม่ได้หมายความว่าสมาชิกในครอบครัวจะต้องเป็นโรคอัลไซเมอร์เสมอไป

2. อายุ

โอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์จะเพิ่มขึ้นตามอายุ และผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้มักจะมีอายุ 65 ปีขึ้นไป เมื่ออายุมากขึ้น ความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

3. เพศ

ผู้หญิงอาจมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์มากกว่าผู้ชาย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาวกว่าผู้ชาย แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยความแตกต่างทางเพศที่ส่งผลต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ยังไม่เป็นที่กระจ่าง

4. กลุ่มอาการดาวน์

ผู้ที่เป็นดาวน์ซินโดรมมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ เพราะมีโครโมโซม 21 เกินมา ซึ่งมียีนโปรตีนตั้งต้นอะไมลอยด์ (APP) การสะสมของแผ่นเบต้า-อะไมลอยด์ ซึ่งเป็นจุดเด่นของโรคอัลไซเมอร์

5.สุขภาพหัวใจและหลอดเลือดไม่ดี

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น มีความดันโลหิตสูง เบาหวาน และคอเลสเตอรอลสูง อาจพบกับความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้น

6. มีประวัติการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง

การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง ยิ่งรุนแรงจนถึงขั้นสลบหรือหมดสติ อาจนำไปสู่การเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ในภายหลัง

7. ปัจจัยอื่น ๆ

กำลังมีการศึกษาปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่อาจส่งผลและทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ เพื่อเป็นการเพิ่มความเข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการเกิดโรคทางสมองที่ซับซ้อนนี้ เพราะเมื่อเจอสาเหตุก็อาจจะนำมาช่วยคิดค้นแนวทางในการรักษาที่มีประสิทธิภาพมั่นคงยั่งยืนมากกว่าเดิม

อาการ อัลไซเมอร์


อาการ อัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์ คือ โรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทที่ลุกลาม ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของการรับรู้เป็นหลัก อาการของโรคอัลไซเมอร์อาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน และจะแบ่งออกเป็นหลายประเภท ซึ่งจะส่งผลถดถอยทำให้เกิดการหลงลืมในแง่มุมต่าง ๆ

1. ด้านความทรงจำ

การสูญเสียความทรงจำเป็นอาการหนึ่งของโรคอัลไซเมอร์ และเป็นอาการที่แสดงผลได้อย่างเด่นชัดมาก ผู้ป่วยมักจะจดจำข้อมูลที่เรียนรู้ใหม่ ๆ ไม่ได้ และเมื่ออาการหนักขึ้นความทรงจำระยะยาวก็จะได้รับผลกระทบตาม ทำให้ค่อย ๆ ลืมเรื่องราวในอดีตไปทีละนิด

2. ด้านการเคลื่อนไหว

เป็นอาการที่จะทำให้ทักษะทางด้านการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยเสื่อมถอย ผู้ป่วยจะพบปัญหาในการทรงตัว และการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลทำให้เดินไม่มั่นคงและเสี่ยงต่อการหกล้มเพิ่มขึ้น

3. ด้านสมาธิ

ผู้ป่วยจะพบความยากลำบากในการเพ่งความสนใจไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถโฟกัสจับจุดอะไรได้เลย มีปัญหาในการทำกิจกรรมหรือการทำงานที่ต้องใช้สมาธิ

4. ด้านภาษา

ทักษะทางภาษาของผู้ป่วยจะเริ่มบกพร่อง จดจำคำศัพท์ไม่ได้ เลือกคำศัพท์ที่จะนำมาพูดไม่ได้ คิดนาน ๆ ก็ยังคิดไม่ออก และอาจมีปัญหาในการทำความเข้าใจภาษาพูด หรือภาษาเขียน

5. ด้านการตีความ

อาการนี้จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึก “สับสน” ทำให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นการสับสนกับเวลาปัจจุบัน หรือสับสนกับตัวตนของผู้คนรอบข้าง อาการสามารถก่อให้เกิดความวิตกกังวล และความทุกข์ทรมานได้

6. ด้านการตัดสินใจ

มีความบกพร่องในเรื่องของการตัดสินใจ ประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ และแก้ไขปัญหาไม่ได้ ซึ่งอาจทำให้มีการตัดสินใจไม่ดีในเรื่องการเงิน และมีปัญหากับทางเลือกในชีวิตประจำวัน

7. การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และการเปลี่ยนแปลงทางบุคลิกภาพ

ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มักมีอารมณ์แปรปรวน ผู้คนรอบข้างจะสังเกตเห็นได้ว่าบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน แตกต่างจากคนเดิม หรืองานประจำวันที่เคยทำได้ กลับทำได้ยากมากขึ้น เช่น การแต่งตัวหรือการทำอาหาร และอันมีการแสดงอารมณ์หงุดหงิดโมโหออกมาเป็นระยะ ๆ

อัลไซเมอร์ มีกี่ระยะ

อาการของโรคอัลไซเมอร์จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

1. อัลไซเมอร์ระยะเริ่มต้น (ไม่รุนแรง)

ในระยะแรกของโรคอัลไซเมอร์ ยังคงใช้ชีวิตได้แบบปกติ ขับรถได้ ทำงานได้ ทำอาหารได้ ทำกิจวัตรประจำวันได้ แต่มักจะลืมคำศัพท์ที่คุ้นเคย หรือลืมตำแหน่งของสิ่งของในชีวิตประจำวันไม่ได้ หาของไม่ค่อยเจอ อาการอาจไม่ชัดเจนในระยะนี้ ปัญหาที่พบบ่อยได้แก่

  • จำชื่อใหม่ ๆ ไม่ค่อยได้
  • ลืมเนื้อหาที่เพิ่งอ่านไป
  • ของหายบ่อยขึ้น หรือวางของผิดที่ ทั้งที่ปกติมีที่วางประจำ

2. อัลไซเมอร์ระยะกลาง (อาการหนักปานกลาง)

โรคอัลไซเมอร์ระยะกลางมักเป็นระยะที่อยู่ยาวนานที่สุด และอาจคงอยู่ได้นานหลายปี ในระยะนี้อาการของโรคสมองเสื่อมจะชัดเจนมากขึ้น ผู้ป่วยอาจรู้สึกมีความสับสนบ่อยขึ้น หงุดหงิดหรือโกรธกับเรื่องง่าย ๆ บ่อยขึ้น อาการของผู้ป่วยอาจแตกต่างกันไป แต่มักจะมีอาการเหล่านี้ที่พบได้บ่อย

  • หลงลืมเหตุการณ์ที่ผ่านมา จำคนรอบข้างได้บ้างไม่ได้บ้าง
  • รู้สึกหงุดหงิดอยู่บ่อยครั้ง
  • ไม่สามารถจำข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองได้ เช่น ที่อยู่หรือหมายเลขโทรศัพท์
  • รู้สึกสับสน ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหน หรือไม่รู้ว่าตอนนี้วันไหนแล้ว
  • มีปัญหาในการควบคุมกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ อาจมีปัญหาปัสสาวะราด
  • การนอนผิดปกติไป เช่น เปลี่ยนมานอนตอนกลางวัน และรู้สึกกระสับกระส่ายในเวลากลางคืน
  • หลงทางบ่อยขึ้น

3. อัลไซเมอร์ระยะสุดท้าย (ขั้นรุนแรง)

ในระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะมีอาการสมองเสื่อมขั้นรุนแรง สูญเสียความสามารถในการพูดคุย และสูญเสียการควบคุมการเคลื่อนไหวไปในที่สุด อาจจะยังพูดบางประโยคเดิมซ้ำ ๆ บ้าง แต่ทักษะด้านความจำและการรับรู้กลับแย่ลงเรื่อย ๆ บุคลิกภาพอาจเปลี่ยนไปอย่างมาก จำตัวเองและคนรอบตัวไม่ได้ แม้แต่ครอบครัว

  • ในขั้นนี้ผู้ป่วยต้องได้รับการช่วยเหลือในทุกขั้นตอน
  • สูญเสียการรับรู้สภาพแวดล้อมรอบตัว
  • จำเรื่องราวในอดีตไม่ได้
  • สูญเสียความสามารถทางกายภาพ เช่น การเดิน การนั่ง และการกลืน
  • มีปัญหาในด้านการสื่อสาร

โรคอัลไซเมอร์ หายได้ไหม


โรคอัลไซเมอร์ สามารถรักษาหายได้ไหม

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคอัลไซเมอร์ แต่มียาที่สามารถบรรเทาอาการได้ชั่วคราว ยาประเภทหลัก ๆ ที่มักนำมาใช้คือ ยากลุ่มสารยับยั้ง Acetylcholinesterase (AChE) ยาเหล่านี้จะเพิ่มระดับของอะเซทิลโคลีน ซึ่งเป็นสารในสมองที่ทำให้เซลล์ประสาทสามารถสื่อสารกันได้ และปัจจุบันสามารถสั่งจ่ายยาชนิดนี้ได้โดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เช่น จิตแพทย์หรือนักประสาทวิทยา

วิธีรักษา โรคอัลไซเมอร์


วิธีรักษา โรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์เป็นภาวะที่ลุกลามซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่ก็ยังมีวิธีจัดการกับอาการ และช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้อยู่ การวางแผนกลยุทธ์การรักษาจะแตกต่างกันไปตามระยะของโรค โดยแนวทางการรักษาโรคอัลไซเมอร์ในแต่ละระยะมีดังต่อไปนี้

1. แนวทางการรักษาอัลไซเมอร์ในระยะแรก (Early-Stage)

โรคอัลไซเมอร์ระยะเริ่มต้น คุณหมออาจสั่งยายับยั้ง Cholinesterase (เช่น Donepezil, rivastigmine หรือ galantamine) เพื่อช่วยปรับปรุงการทำงานของการรับรู้ในสมอง ยาเหล่านี้จะออกฤทธิ์ด้วยการเพิ่มระดับของอะเซทิลโคลีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับความจำและการเรียนรู้ และผู้ป่วยควรทำกิจกรรมที่กระตุ้นสมอง เช่น เล่นเกมทายปริศนา อย่าง Crossword หรือ ซูโดกุ เป็นต้น การทำให้สมองตื่นตัวสามารถช่วยชะลอการลุกลามของอาการสมองเสื่อมได้

2. แนวทางการรักษาอัลไซเมอร์ระยะที่สอง (Middle-Stage)

ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องปรับยา หรือได้รับการสั่งยาเพิ่มเติม เพราะเมื่อโรคเริ่มมีการลุกลามมากขึ้น ประสิทธิผลของยาอาจเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย และคุณหมออาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแผนการรักษา และอาจเข้ารับการทำกิจกรรมบำบัด เพื่อเป็นการเยียวยาในอีกขั้นตอนหนึ่ง

3. แนวทางการรักษาอัลไซเมอร์ระยะที่สาม (Late-Stage)

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่มีความรุนแรงมากที่สุด คุณหมอจะเน้นการจัดการอาการที่เป็นหนัก และมอบการดูแลความสะดวกสบายให้แก่ผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นการดูแลแบบประคับประคองในช่วงสุดท้าย

วิธีป้องกันโรคอัลไซเมอร์


วิธีป้องกันโรคอัลไซเมอร์

การป้องกันโรคอัลไซเมอร์ คือการบ่มเพาะวิถีชีวิตที่มีความสมดุล สร้างนิสัยที่ดีในการใช้ชีวิตในทุก ๆ วัน ถึงแม้ว่าจะไม่มีวิธีการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ที่รับประกันเห็นผลได้ 100% แต่การนำแนวทางปฏิบัติเหล่านี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันของคุณ อาจช่วยลดความเสี่ยงได้

1. ทำกิจกรรมบริหารสมอง

เป็นการทำให้สมองของคุณตื่นตัวและได้รับการกระตุ้น ผ่านการทำกิจกรรมที่ท้าทายการทำงานของการรับรู้ เช่น การอ่านหนังสือ การเล่นไขปริศนา การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และการเล่นเกมกระตุ้นสมอง ซึ่งจะสามารถช่วยรักษาระดับการรับรู้ และส่งเสริมสุขภาพของสมองได้

2. นอนให้เพียงพอ

การนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพเป็นประจำ จะส่งผลดีต่อสมองแน่นอน ขอแนะนำให้คุณนอนหลับ 7-9 ชั่วโมงต่อคืน และกำหนดกิจวัตรการนอนให้เป็นวงจร ซึ่งก็คือนอนให้เป็นเวลาตื่นให้เป็นเวลา

3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การออกกำลังกาย นอกจากจะดีต่อร่างกายช่วยสร้างกล้ามเนื้อและลดไขมันแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาทและเซลล์สมองได้อีกด้วย และยังทำให้ระบบไหลเวียนของออกซิเจนที่ขึ้นไปช่วยหล่อเลี้ยงสมองทำงานได้ดีขึ้น ขอแนะนำให้ตั้งเป้าออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์

4. หลีกเลี่ยงสิ่งเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ และหลีกเลี่ยงการยาเสพติด เพราะอาจส่งผลเสียต่อสมองได้ เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดการทำงานของสมอง

5. ฝึกสมาธิ

การฝึกสมาธิในปัจจุบันนี้มีหลายแบบ โดยคุณอาจจะจับจิตไปที่การรับรู้ของลมหายใจเข้าออกก็ได้ เดินจงกรมหรือปฏิบัติด้านอื่น ๆ เพื่อโฟกัสกับทุกวินาทีที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งจะช่วยลดความเครียด เพิ่มสมาธิ และส่งผลต่อสุขภาพจิตได้

6. ดูแลหูและการได้ยิน

มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึง ความเชื่อมโยงระหว่างการสูญเสียการได้ยิน กับความบกพร่องทางสติปัญญา เพราะทำให้สมองไม่ได้รับการกระตุ้นจากเสียง การสื่อสารต่าง ๆ ที่ถูกส่งไปยังสมองจึงไม่สมบูรณ์ ดังนั้นการตรวจสุขภาพการได้ยิน และการสวมอุปกรณ์ป้องกันการได้ยินเป็นประจำจะเป็นประโยชน์ต่อสมอง และสุขภาพจิต

7. รักษาความดันให้ปกติ

การมีความดันโลหิตสูง จัดเป็นปัจจัยเสี่ยทำให้การรับรู้ลดลง แนะนำให้คุณใช้วิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ รวมถึงการรับประทานอาหารที่สมดุล และการออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยรักษาความดันโลหิตให้เป็นปกติ

8. เข้าสังคม

การมีส่วนร่วมทางสังคม จะช่วยทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นและยังเป็นการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างอีกด้วย ขอแนะนำให้คุณมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมที่คุณชอบ โดยการเข้าสังคมนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการเข้าสังคมใหญ่โต โดยอาจจะเป็นการนัดทานข้าวกับเพื่อนสนิท การแวะไปเยี่ยมครอบครัวบ้าง การออกไปดูหนังหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่คุณชื่นชอบก็ได้

9. รับประทานอาหารที่สมดุล และมีคุณค่าทางโภชนาการ

เน้นทานอาหารที่อุดมด้วยผักผลไม้ ธัญพืช โปรตีนไร้ไขมัน และกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีส่วนช่วยบำรุงสุขภาพสมอง

อัลไซเมอร์ VS สมองเสื่อมแตกต่างกันอย่างไร


อัลไซเมอร์ VS สมองเสื่อมแตกต่างกันอย่างไร

แท้จริงแล้ว โรคสมองเสื่อม กับ โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่แตกต่างกัน โดยโรคสมองเสื่อม คือ กลุ่มอาการผิดปกติ ที่เกิดจากความเสื่อมของสมอง ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย แต่โรคสมองเสื่อม “ชนิดอัลไซเมอร์” คือ “ชนิด” ที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มโรคสมองเสื่อม ทำให้ 2 โรคนี้มีความแตกต่างแยกจากกัน

ข้อปฏิบัติตัวของผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ในระยะขั้นสุดท้ายจะต้องได้รับการดูแลในทุกขั้นตอน ซึ่งรวมถึงการอาบน้ำ การทานข้าว และการแต่งกาย หัวใจสำคัญคือจะต้องมีความเข้าใจในตัวผู้ป่วย และต้องดูแลรักษาจิตใจของตนเองด้วย ไม่มีทางที่คนคนเดียวจะสามารถแบกรับการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้ทั้งหมด

ในกรณีที่คุณมีญาติพี่น้องก็จะต้องแบ่งเวลามาดูสลับสับเปลี่ยนกันไป หรือคุณอาจจะจ้าง ผู้ช่วยพยาบาลหรือพี่เลี้ยงที่มีความรู้เกี่ยวกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์นี้มาช่วยเป็นแรงหนุนให้กับคุณ และต้องมีการปฏิบัติตามหลักดังนี้

  • พยายามรักษากิจวัตรประจำวัน เช่น การอาบน้ำ แต่งตัว และรับประทานอาหารให้ในเวลาเดียวกัน ของทุกวัน
  • ให้ผู้ป่วยทานยาในเวลาเดียวกันทุกวัน
  • ซื้อเสื้อผ้าหลวม ๆ ใส่สบาย ใช้งานง่าย เช่น เสื้อผ้าที่มีขอบเอวยางยืด สายรัดผ้า แทนเสื้อผ้าที่ใส่ยาก
  • ใช้เก้าอี้อาบน้ำที่แข็งแรง เพื่อป้องกันผู้ป่วยล้มในห้องน้ำ
  • ให้เกียรติผู้ป่วย บอกผู้ป่วยทีละขั้นตอนว่าคุณกำลังจะลงมือทำอะไร

รักษาโรคอัลไซเมอร์


สรุป

โรคอัลไซเมอร์เป็นอีกหนึ่งโรคที่มีความอันตรายร้ายแรง เพราะว่ายังไม่สามารถคิดค้นหรือหาวิธีรักษาให้โรคนี้หายไปจากผู้ป่วยได้ มีแต่การชะลอเวลาและการประคองคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเท่านั้น

และนอกจากสุขภาพทางสมองของผู้ป่วยแล้ว ผู้ที่ทำการรักษาดูแลผู้ป่วย ก็จะต้องถนอมสุขภาพจิตของตนเองไปด้วยพร้อม ๆ กัน แนะนำวางแผนวิธีการดูแลจัดการผู้ป่วยให้ดี เพื่อที่จะทำให้ทุกชีวิตเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีคุณภาพในแบบของตนเอง

Vitalia Wellness Clinic


Vitalia Wellness Clinic

ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์ชะลอวัย ดำเนินการอย่างมืออาชีพ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวลเนสและการฟื้นฟูสุขภาพ ประกาศนียบัตรจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีความเชี่ยวชาญในการฟื้นฟูความงามอย่างยั่งยืนจากภายในสู่ภายนอก

พร้อมให้คำปรึกษาช่วยเหลือดูแลผู้ที่กำลังมีปัญหาในเรื่องของอัลไซเมอร์ มีอาการหลงลืม หรือผู้ที่มีความกังวลว่าตัวเองเคยมีครอบครัวประวัติเคยเป็นอัลไซเมอร์มาก่อนก็สามารถเข้ามารับการตรวจคัดกรองโอกาสความเสี่ยง ที่คุณอาจจะเป็นอัลไซเมอร์ได้ พร้อมทั้งหาวิธีดูแลวางแผนสุขภาพ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

ติดต่อนัดปรึกษาแพทย์

นัดพบแพทย์

อ้างอิงจาก

All rights Reserved © Vitalia Wellness Clinic, 2023Privacy Policy